การรีไฟแนนซ์บ้านคืออะไร มีข้อดีอย่างไร วางแผนอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด
เชื่อว่าคนที่กำลังกู้บ้านอยู่ คงเคยได้ยินคนอื่นพูดบ่อยๆ ว่า ‘หลังจากผ่อนไป 3 ปี อย่าลืมรีไฟแนนซ์บ้านด้วยนะ จะได้ประหยัดดอกเบี้ย’ ซึ่งจริงๆ แล้วการรีไฟแนนซ์บ้านเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่? มีข้อดีข้อเสียอย่างไร? ในบทความนี้ จะพาไปหาคำตอบว่า ‘รีไฟแนนซ์บ้าน’ คืออะไร? พร้อมบอกสิ่งที่ต้องรู้ในการรีไฟแนนซ์บ้าน 2567 แบบละเอียด

ก่อนรีไฟแนนซ์บ้าน ต้องคำนวณดอกเบี้ยเป็นอย่างแรก
ก่อนตัดสินใจรีไฟแนนซ์บ้าน ต้องคำนวณดอกเบี้ยให้ถูกต้อง เนื่องจากการรีไฟแนนซ์นั้น ทำเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ลดภาระดอกเบี้ย ทำให้เงินที่จ่ายไปแต่ละเดือน ไปหักเงินต้นได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ต้องมาคำนวณร่วมด้วยก็คือ ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการยื่นขอสินเชื่อใหม่ โดยการยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารอื่น จะมีค่าธรรมเนียมในการยื่นขอสินเชื่อตามมา ผู้กู้จึงต้องคำนวณให้มั่นใจก่อนว่า เมื่อบวกค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้ว ภาระที่ต้องจ่ายจะน้อยลงกว่าเดิม
การคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด
(เงินต้นคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันในงวด) ÷ จำนวนวันต่อปี
หมายเหตุ : การคำนวณดอกเบี้ยเป็นแบบลดต้นลดดอก โดยดอกเบี้ยในแต่ละงวดจะลดลงตามจำนวนเงินต้นที่ลดลง
ตัวอย่าง นาย A ผ่อนชำระเงินกู้ไปแล้ว 3 ปี จนเหลือยอดเงินต้น 1,800,000 บาท
หากนาย A ไม่รีไฟแนนซ์ และทำตามเงื่อนไขธนาคารเดิม (เมื่อผ่อนครบ 3 ปี ดอกเบี้ยจะปรับเป็น 5.12% ต่อปี)
(1,800,000 x 5.12% x 31) ÷ 365 = ค่าดอกเบี้ยต่อเดือนจะอยู่ที่ 7,827.29 บาท
หากนาย A เลือกรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่ พร้อมได้ดอกเบี้ยโปรโมชันเฉลี่ย 3.5% โดยยอดเงินต้น 1,800,000 บาท
(1,800,000 x3.5% x 31) ÷ 365 = ค่าดอกเบี้ยต่อเดือนจะอยู่ที่ 5,350.68 บาท
จากตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยจะเห็นว่า ยิ่งดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น การรีไฟแนนซ์บ้านเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้กู้ เนื่องจากได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง อีกทั้งยังสามารถผ่อนชำระเงินต้นได้มากกว่าการเลือกผ่อนบ้านกับธนาคารเดิม

โดยปกติแล้วดอกเบี้ยเฉลี่ยในช่วง 3-5 ปีแรก ธนาคารจะมีโปรโมชันอัตราดอกเบี้ยราคาพิเศษให้กับผู้กู้ เช่น ผ่อนบ้านดอกเบี้ยพิเศษ 3 ปีแรก 3-5% จากนั้นจะปรับดอกเบี้ยขึ้นราว 5-7% ซึ่งนับว่าเป็นค่าดอกเบี้ยที่แพงขึ้นอย่างชัดเจน การรีไฟแนนซ์จึงเป็นวิธีที่ช่วยให้อัตราดอกเบี้ยลดลง ทั้งนี้ผู้กู้ควรคำนวณค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์เอาไว้ด้วย ซึ่งในบางกรณีการขอลดอัตราดอกเบี้ยบ้านกับธนาคารเดิมอาจประหยัดเงินได้มากกว่า เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อใหม่ เช่น ค่าประเมินทรัพย์ ค่าจดจำนอง ค่าอากรสแตมป์ ฯลฯ ดังนั้นก่อนที่จะรีไฟแนนซ์บ้านผู้กู้จึงควรคำนวณค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ย และเงื่อนไขของแต่ละธนาคารอย่างละเอียด เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะทำการรีไฟแนนซ์บ้าน หรืออยู่กับธนาคารเดิม